โลโก้เว็บไซต์ คณะผู้บริหาร มทร.ล้านนา ร่วมวางพานพุ่มเนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2563 | สำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

คณะผู้บริหาร มทร.ล้านนา ร่วมวางพานพุ่มเนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2563

เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 14 พฤศจิกายน 2563 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 2525 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

        วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2563 รศ.ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ ร่วมพิธีวางพานพุ่มเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2563 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์เฉลิมพระเกียรติ จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิกคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหภูมิพลอุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงคำนึงถึงประโยชน์ทุกข์สุขของราษฎรชาวไทย โดยนายนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานกล่าวคำถวายราชสดุดีในพิธี สำหรับวันพระบิดาแห่งฝนหลวงตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้

        โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของ รัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ที่มีสาเหตุจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน

        จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติตราบเท่าทุกวันนี้ ทำให้ทรงพบเห็นว่า ภาวะแห้งแล้งได้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะการตัดไม้ทำลายป่า เป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ ส่งผลถึงความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ คิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี

            ทั้งนี้ ระหว่างทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน และทางอากาศยาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงสังเกตเห็นว่า มีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝนตกได้

            ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนทรงมั่นพระราชหฤทัย ก่อนพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น และในปีถัดมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการบนท้องฟ้า

             กระทั่งในปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว เพื่อให้การสนับสนุนในการสนองพระราชประสงค์ โดยในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการและหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก

           ต่อมา ได้มีปฏิบัติการโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน ก็ได้รับรายงานยืนยันจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และความสำเร็จดังกล่าวยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดโครงการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

วิธีการทำฝนหลวง

            การทำฝนหลวง เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ซึ่งต้องใช้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมาก ๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝน คือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม นั่นคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับพื้นผิวขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอจะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จนเกิดกระบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำขึ้นบนแกนกลั่นตัวจนกลายเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้น สารเคมีดังกล่าวจึงประกอบด้วยสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้น กลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อกระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน

            การก่อกวน เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนนี้ จะมุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้นให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ ไม่ควรเกิน 10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มเกิดมีการก่อตัวและเจริญเติบโตในแนวตั้ง จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อน โปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วมในบริเวณปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป              

ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน

            การเลี้ยงให้อ้วน เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโต ซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะจะต้องไปเพิ่มพลังงานให้กับการลอยตัวของก้อนเมฆให้ยาวนานออกไป โดยต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ หรือศิลปะแห่งการทำฝนควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตัดสินใจโปรยสารเคมีฝนหลวงชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับการลอยตัวของเมฆ มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลาย                              

ขั้นตอนที่สาม : โจมตี

            การโจมตี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง โดยเมฆ หรือกลุ่มเมฆฝน ต้องมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้ จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีก และกระจังหน้าของเครื่องบิน ซึ่งจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงในการลอยตัวของก้อนเมฆ หรือทำให้อายุการลอยตัวนั้นหมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็น คือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน

            ด้วยความสำคัญ และปริมาณความต้องการให้มีปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือทวีจำนวนมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้งานปฏิบัติการฝนหลวงสามารถปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรได้กว้างขวาง และได้ผลดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2518 เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป กระทั่งมีการปรับปรุง และพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

การดำเนินงาน

            เนื่องจากการทำฝนเป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่ต่อการรับรู้ของบุคคลทั่วไป และในประเทศไทยยังไม่มีนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ในระยะแรกเริ่มของโครงการ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จึงทรงเป็นกำลังสำคัญ และทรงร่วมในการพัฒนากิจกรรมนี้ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทรงวางแผนการทดลองปฏิบัติการติดตามและประเมินผลปฏิบัติการทุกครั้งอย่างใกล้ชิดและรวดเร็วชนิดวันต่อวัน

            นอกจากนั้นยังทรงปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างในการประสานงาน ขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนกิจกรรม อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กองบินตำรวจ กองการสื่อสารกรมตำรวจ และกองทัพอากาศ ในรูปของศูนย์อำนวยการฝนหลวงพิเศษ สวนจิตรลดา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรูปของคณะกรรมการดำเนินการทำฝนหลวง ซึ่งการที่พระองค์ติดตามโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดมาตลอด และได้ให้แนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้โครงการฝนหลวง พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

วัตถุประสงค์ของโครงการฝนหลวง

            จากความเป็นมาของโครงการฝนหลวงนั้นจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะการที่ท้องถิ่นหลายแห่งที่ประสบปัญหาพื้นดินแห้งแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร นอกจากนี้ภาวะความต้องการใช้น้ำของประเทศ ที่นับวันจะทวีปริมาณความต้องการสูงขึ้น เพราะการขยายตัวเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม นั่นเอง

ประโยชน์ของโครงการฝนหลวง

            สืบเนื่องจากเดิมที โครงการฝนหลวง มีขึ้นเพื่อรับภาระหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ดังนั้น นอกจากการบรรเทาปัญหาภัยแล้งแล้ว เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการร้องขอเพื่อให้ขยายการบรรเทาความเดือดร้อนที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ การทำฝนหลวงจึงมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการมีส่วนช่วยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ดังนี้

            ด้านการเกษตร : มีการร้องขอฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนาน ซึ่งมีผลกระทบต่อแหล่งผลิตทางการเกษตรที่กำลังให้ผลผลิตในพื้นที่ต่าง ๆ

            ด้านการอุปโภค บริโภค : การทำฝนหลวงได้ช่วยตอบสนองภาวะความต้องการน้ำกิน น้ำใช้ ที่ทวีความรุนแรงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากคุณสมบัติของดินในภูมิภาคนี้เป็นดินร่วนปนทราย ไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ดีเท่าที่ควร

            ด้านการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ : เนื่องจากใต้พื้นดินของภาคอีสานมีแหล่งหินเกลือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง หากยามใดอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางเกิดมีปริมาณน้ำเหลือน้อย ย่อมส่งผลให้เกิดน้ำกร่อยหรือเค็มได้ ดังนั้น การทำฝนหลวงมีความจำเป็นมากในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว

            ด้านการเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ : เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำลดต่ำลง จนไม่สามารถสัญจรไปมาทางเรือได้ จึงต้องมีการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าว เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น และการจราจรทางน้ำยังเป็นอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรทางบก ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมาก

            ด้านการป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม : หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อย และสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการทำฝนหลวง จึงช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าว อีกทั้งการทำฝนหลวงยังช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจากการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษให้ออกสู่ท้องทะเล ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง

            ด้านการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า : เนื่องจากบ้านเมืองเราเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะวิกฤต โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้า การทำฝนหลวงจึงมีความสำคัญในด้านดังกล่าวด้วยเช่นกัน เป็นต้น

            ทั้งนี้ จากประโยชน์นานัปการของโครงการฝนหลวง อันเกิดจากพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงคำนึงถึงประโยชน์ทุกข์สุขของราษฎรชาวไทยเสมอมานั้น การขนานนามพระองค์ว่า พระบิดาแห่งฝนหลวง จึงเป็นการแสดงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ที่จะคงอยู่ในใจของปวงชนชาวไทยตลอดไปตราบนานเท่านาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
irrigation.rid.go.th
lib.ru.ac.th 
prdnorth.in.th 
chaipat.or.th 
thairoyalrain.in.th 





ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา